• พันธมิตรองค์กรภาครัฐและเอกชนของประเทศไทยและประเทศญี่ปุ่น ได้จัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการศึกษาเพื่อพัฒนา ‘นิคมอุตสาหกรรมที่มุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน’ อันประกอบด้วยกลุ่มองค์กรพันธมิตรที่ร่วมลงนามในพิธีการที่จัดผ่านทางออนไลน์ ได้แก่ การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) , บริษัท บางกอกอินดัสเทรียลแก๊ส จำกัด , บริษัท โอซาก้า แก๊ส (ประเทศไทย) จำกัด , บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) , บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) , บริษัท คันไซ อิเลกทริค เพาเวอร์ จำกัด , บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด และ บริษัท โตโยต้า ทูโช (ไทยแลนด์) จำกัด
• โดยมี ประธานกรรมการของการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และหน่วยงานด้านทรัพยากรธรรมชาติและพลังงานในสังกัดกระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรม ของประเทศญี่ปุ่น เข้าร่วมเป็นสักขีพยานภายในงาน
• นอกจากนี้ ยังได้รับเกียรติจาก มร.นาชิดะ คาสุยะ เอกอัครราชทูตวิสามัญผู้มีอำนาจเต็มแห่งญี่ปุ่นประจำราชอาณาจักรไทย ร่วมแสดงความยินดีกับผู้เข้าร่วมในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือดังกล่าว เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2564
• ทั้งนี้ แต่ละภาคส่วนที่ลงนามความร่วมมือภายใต้บันทึกข้อตกลงความร่วมมือการศึกษาเพื่อพัฒนา ‘นิคมอุตสาหกรรมที่มุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน’ จะทำงานร่วมกันเพื่อดำเนินการศึกษาความเป็นไปได้ในการเดินหน้าบริหารจัดการโครงสร้างพื้นฐานของพลังงานสะอาดประเภทต่าง ๆ เช่น พลังงานไฮโดรเจน พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานชีวภาพ
• ตลอดจนการคมนาคมที่ลดการปล่อยคาร์บอนให้เป็นศูนย์ภายในเขตนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดและพื้นที่โดยรอบ
• ทั้งนี้ ในอนาคตจะมีการหารือร่วมกันเพื่อพัฒนาแนวทางการบริหารจัดการพลังงานหมุนเวียน ตั้งแต่การผลิต การใช้ และการจัดเก็บ รวมถึงการพัฒนาโครงการสาธิตการใช้พลังงานไฮโดรเจนในพื้นที่มาบตาพุด
• การผลักดันให้มีการใช้ยานพาหนะที่ปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์ ซึ่งรวมไปถึงรถยนต์ประเภทเซลล์เชื้อเพลิงที่ขับเคลื่อนโดยพลังงานสะอาดอย่างไฮโดรเจน อีกทั้งยังจะส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีขั้นสูงในการจัดการพลังงาน
• สืบเนื่องจากนโยบายของรัฐบาลที่มุ่งเน้นการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว ปัจจุบันจึงเกิดความพยายามมากมายที่จะพัฒนาเศรษฐกิจผ่านมาตรการต่างๆ เพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และส่งเสริมความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในประเทศไทย ซึ่งการบรรลุเป้าหมายดังกล่าวต้องอาศัยการลดคาร์บอนฟุตพริ้นท์ตลอดทั้งวัฏจักรชีวิตของพลังงาน ตั้งแต่การผลิต การจัดเก็บ การขนส่ง และการใช้พลังงาน นอกจากนี้ยังจำเป็นต้องมีแหล่งพลังงานที่หลากหลายเพื่อให้มีการใช้พลังงานหมุนเวียนได้หลากหลายประเภทมากที่สุด
• ในบริบทนี้ ถือได้ว่าไฮโดรเจนมีศักยภาพสูง เพราะสามารถผลิตขึ้นได้จากพลังงานสะอาดและพลังงานหมุนเวียนหลากหลายประเภท เช่น พลังงานชีวมวล
• นอกจากนี้ การจัดเก็บและขนส่งไฮโดรเจนเหลวยังสามารถทำได้ง่ายกว่าพลังงานไฟฟ้าอีกด้วย หลังจากที่นำเอาไฮโดรเจนไปผลิตไฟฟ้าแล้วก็มีแค่น้ำเท่านั้นที่ถูกปล่อยออกมา
• โดยผลลัพธ์ที่คาดหวังว่าจะได้รับจากความร่วมมือในการศึกษาครั้งนี้ คือการระบุชี้ชัดให้ได้ว่าไฮโดรเจนและพลังงานสะอาดอื่น ๆ มีประโยชน์และอุปสรรคใดบ้างที่ต้องแก้ไข เพื่อให้เป็นประโยชน์ต่อการใช้งานในอนาคต
• ซึ่งภาคส่วนต่าง ๆ ที่อยู่ภายใต้ความร่วมมือในครั้งนี้ จะผนึกกำลังสร้างระบบนิเวศของพลังงานที่ยั่งยืนเพื่อมุ่งลดคาร์บอนตลอดทั้งวัฏจักรชีวิตของพลังงานหมุนเวียน ตั้งแต่การผลิต การจัดการ การใช้ และการขนส่ง