4.58K
คนดูทั้งหมด
เรื่องต้องรู้ ! ก่อนชม SUPER GT ให้สนุก

• การแข่งขันรถยนต์ทางเรียบระดับแนวหน้าของประเทศญี่ปุ่น เริ่มครั้งแรกในปี พ.ศ. 2536 โดยใช้ชื่อว่า Japanese Grand Touring Car Championship หรือ JGTC ซึ่งได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อจาก JGTC เป็น Super GT เพื่อเพิ่มความเป็นสากล ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2548

• ในแต่ละฤดูกาลจะมีการแข่งขันทั้งหมด 8 สนาม โดยแบ่งเป็น 7 สนามในประเทศญี่ปุ่น และอีก 1 สนาม ที่สนามเซปัง อินเตอร์เนชั่นแนล เซอร์กิต ประเทศมาเลเซีย

         ตั้งแต่ฤดูกาลการแข่งขันปี 2014 สนามช้าง อินเตอร์เนชั่นแนล เซอร์กิต จังหวัดบุรีรัมย์ ได้เข้ามาเป็น 1 ใน 8 ของสนามที่ใช้ในการแข่งขัน Super GT แทนสนามเซปัง อินเตอร์เนชั่นแนล เซอร์กิต ประเทศมาเลเซีย

• สนามสุดท้ายที่ใช้ในการแข่งขัน Super GT ในทุกปี จะถูกกำหนดให้เป็นสนามทวินริง โมเตกิ (Twin Ring Motegi) ซึ่งตั้งอยู่ที่จังหวัดโทชิกิ ประเทศญี่ปุ่น

• การแข่งขัน Super GT Race 2018 วันที่ 30 มิถุนายน - 1 กรกฎาคม 2561 ณ สนามช้าง อินเตอร์เนชั่นแนล เซอร์กิต จังหวัดบุรีรัมย์ นับเป็นสนามที่ 4 ในฤดูกาลการแข่งขันปี 2018 และนับเป็นปีที่ 5 ของการแข่งขัน Chang Super GT Race

• การแข่งขัน Super GT แบ่งออกเป็น 2 รุ่น ได้แก่ GT 500 และ GT 300 โดยตัวเลขนี้หมายถึงกำลังแรงม้าสูงสุดในแต่ละรุ่น ซึ่งทั้งสองรุ่นจะทำการแข่งไปพร้อมกัน และแต่ละเรซจะมีระยะทางรวมทั้งหมดประมาณ 300 กิโลเมตร ใช้เวลาแข่งขันประมาณ 2 ชั่วโมง 

• การแข่งขันในรุ่น GT 500 ประกอบไปด้วย รถยนต์จาก 3 ค่ายรถยนต์แบรนด์ญี่ปุ่น ได้แก่ ฮอนด้า นิสสัน และโตโยต้า (เลกซัส) 

• การแข่งขันในรุ่น GT 300 ประกอบไปด้วยรถยนต์จากค่ายรถยนต์แบรนด์ญี่ปุ่น ได้แก่ โตโยต้า นิสสัน ซูบารุ และฮอนด้า ที่กลับมาเข้าร่วมการแข่งรุ่นนี้ในปี 2018 และแบรนด์ยุโรป ได้แก่ ปอร์เช่ บีเอ็มดับเบิลยู เมอร์เซเดส-เบนซ์ ออดี้ โลตัส เบนท์ลีย์ และเลกซัส

• ไฟ LED ที่ติดอยู่หน้ากระจกรถ สีแดงและสีน้ำเงิน มีไว้เพื่อบอกผู้ชมว่า นักแข่งคนไหนที่กำลังขับอยู่

         จากกติกาการแข่งขันที่กำหนดไว้ว่า ในการแข่งขัน 1 เรซ จะต้องมีนักแข่งอย่างน้อย 2 คน โดยไฟ LED สีแดง หมายถึงนักแข่งหมายเลข 1 กำลังขับอยู่ ส่วนสีน้ำเงิน หมายถึงนักแข่งหมายเลข 2 กำลังขับอยู่

• จุดสังเกตในการแยกความแตกต่างระหว่างรุ่น GT 500 และรุ่น GT 300 เมื่ออยู่ในสนามการแข่งขัน ได้แก่

         ไฟหน้ารถแข่ง รุ่น GT 500 ไฟหน้าจะเป็นสีขาว แต่รุ่น GT 300 ไฟหน้าจะเป็นสีเหลือง  

         สติกเกอร์ที่ติดกับตัวรถ รุ่น GT 500 จะมีพื้นหลังสีขาวและตัวเลขสีดำ แต่รุ่น GT 300 จะมีพื้นหลังสีเหลืองและตัวเลขสีดำ

         สติกเกอร์คาดกระจกหน้ารถ รุ่น GT 500 เป็นแถบสีขาว แต่รุ่น GT 300 เป็นแถบสีเหลือง

         กราฟิกในการถ่ายทอดสด รุ่น GT 500 จะเป็นพื้นสีขาว ตัวเลขสีดำ และมีไฟหน้าสีขาว แต่รุ่น GT 300 จะเป็นพื้นสีเหลือง ตัวเลขสีดำ และมีไฟหน้าสีเหลือง

• WH ย่อมาจาก Weight Handicaps คือ ระบบน้ำหนักถ่วง ซึ่งรถแข่งที่ทำผลงานได้ดีจะถูกบวกน้ำหนักเพิ่มขึ้นในทุกสนาม ทำให้รถสามารถถวิ่งได้ช้าลงและมีระยะเบรกที่ยาวขึ้น ซึ่งจะช่วยเปิดโอกาสให้รถแข่งคันอื่น ๆ สามารถเร่งแซงและทำคะแนนตีตื้นได้ 

         อีกทั้ง ทำให้ผู้ชมได้ร่วมลุ้นกับการแข่งขันในทุกสนาม โดยจะมีสติกเกอร์รูปตุ้มน้ำหนักพร้อมตัวเลขบอกน้ำหนักติดอยู่ข้างรถ เพื่อบอกว่ารถคันนี้ถูกถ่วงน้ำหนักที่เท่าไร น้ำหนักถ่วงสูงสุดคือ 100 กิโลกรัม

         ทั้งนี้ การแข่งขันสนามสุดท้าย น้ำหนักถ่วงทั้งหมดจะถูกเอาออก เพื่อให้รถแข่งได้แสดงสมรรถนะอย่างเต็มที่และขับเคี่ยวกันอย่างสนุกสนาน